จีนตั้ง “โชว์รูม” ขายเหล็ก แย่งตลาดยี่ปั๊ว-ซาปั๊วไทย 60%

พงศ์เทพ เทพบางจาก
พงศ์เทพ เทพบางจาก

อุตสาหกรรมเหล็กของไทยติดอยู่ในวังวนปัญหาขาดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากการขาดแร่เหล็กต้นน้ำ ทั้งยังถูกจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกส่งสินค้ามาทุ่มตลาด จนผู้ผลิตไทยต้องขอให้รัฐใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ปกป้องอุตสาหกรรม

มาจนถึงวันนี้สถานการณ์ของอุตสาหกรรมยังอ่อนแอและกำลังเผชิญความท้าทายใหม่จากจีนอีกครั้ง “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ  “พงศ์เทพ เทพบางจาก” รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมเหล็กไทยท่ามกลางความท้าทาย

ADVERTISEMENT

ทุนจีนรุกคืบตลาดเหล็กไทย

สถานการณ์ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นปัจจัยใหม่ที่มีผลต่ออุตสาหกรรมเหล็กที่น่ากลัวกว่า คือ ผู้ค้าเหล็กจีนเริ่มเข้ามาตั้งโชว์รูมขายในประเทศไทยตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เฉพาะรอบกรุงเทพฯน่ามีประมาณ 10 แห่ง โกดังที่เข้ามานั้นก็เหมือนกับพร้อม shipment พร้อมจะส่งมอบเลย จากปกติถ้านำเข้าจากจีนต้องรอการ ship มา 30-45 วัน แต่ตอนนี้คือ “เลือกช็อปได้เลย” จะเอาสินค้าเหล็กรายการใดก็ได้ โดยเฉพาะรายการที่ไม่มีการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) หรือไม่มี มอก.บังคับ เขานำเข้ามาอัดรอไว้ในโกดังก่อน

ปัจจุบันจีนมีกำลังผลิตเหล็ก 1,000 ล้านตันต่อปี แต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีน ภาคอสังหาริมทรัพย์ไม่ดีนัก แต่การผลิตเหล็กไม่ลดลงเพราะคอนเซ็ปต์จีนต้องผลิตจำนวนมากเพื่อทำให้ต้นทุนต่อหน่วยถูก เมื่อการผลิตคงเดิมจึงต้องระบายสินค้าผลิตภัณฑ์เหล็กชนิดต่าง ๆ ออกมา

ขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ง่ายที่สุดในย่านนี้เพราะมาตรการต่าง ๆ หรือนโยบายไม่เหมือนประเทศอื่น เอื้อกับระบบ free trade ถ้าไปดู net import เหล็ก ไทยติดระดับโลกตลอด ปี 2022 จาก worldsteel.org พบว่า ประเทศไทยอยู่อันดับ 8 ของโลก มีการบริโภคเหล็กปีละ 16-18 ล้านตันต่อปี

เหล็กจีนกินแชร์ 60% ซ้ำรอยซามาเนีย

การเข้ามาในลักษณะตั้งโชว์รูมขายเหล็กนี้อยากให้มองว่าเป็นโมเดลทางการค้าที่จะพัฒนาต่อยอดไปในสินค้าอีกหลาย ๆ กลุ่ม ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ที่ผ่านมาเราอาจรู้จักแค่ “ซามาเนีย” แต่อันนี้เป็นโมเดลที่เริ่มจะเห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะง่ายและราคาถูกกว่าเหล็กในประเทศเยอะ เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล็กไทยไม่ competitive ไทยไม่มีต้นน้ำ (แร่-โรงถลุงเหล็ก)

Advertisement

ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เหล็กจีนมากิน market share ของอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศถึง 60% เฉลี่ยจากเมื่อก่อนอยู่ระดับ 20-30% หรือมาร์เก็ตแชร์เหล็กจีนเพิ่มขึ้นมาเป็นเท่าตัว

ตอนนี้ภาพเหมือนกับว่า เหล็กจากจีนกำลังเข้ามาทำลายผู้ที่อยู่ในวงจรค้าขายเหล็กของไทย คนกลางคือ “ยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว” ต่าง ๆ ที่เคยนำเหล็กเข้ามาก็ขายไม่ได้ “คอนเซ็ปต์เหมือนทัวร์ 0 เหรียญ” ซึ่งไม่ใช่ทุนจีนสีเทา แต่เป็นการค้าขายปกติ มีการจดทะเบียนเป็นร้านค้าหรือโกดังสินค้า แต่ว่าเวลาโฆษณาขายเหล็กก็มี “ออนไลน์-เว็บไซต์” ด้วย เวลาเข้าไปดูเสมือนหนึ่งว่า เป็นโรงงานเหล็ก แต่ว่าไม่ใช่โรงงานเหล็กแต่เป็นโกดังจึงไม่ถูกควบคุมด้วยกฎหมายของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

ภาพรวมตลาดเหล็กครึ่งปีหลัง

ตลาดเหล็ก ฝั่ง Demand “น่ากังวล” เพราะกำลังซื้อในประเทศแทบจะน้อยมาก ไม่ขยับเลย เช่น ถ้าไปดูทางฝั่งนิคมตะวันออกทาง EEC ที่จีนเข้ามาลงทุนเยอะ แต่โรงงานจีนเหมือนถอดเป็นชิ้น ๆ มาจากจีน แล้วนำเข้ามาประกอบใหม่ทั้งหมด ตัวเหล็กรูปพรรณ-โครงที่ใช้ทำโรงงานมาจากจีนหมด จึงไม่ได้มาดูดซับ supply ของผู้ผลิตเหล็กในประเทศไทยเลย ส่งผลให้กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ไม่กล้าจะพูดว่า growth “อาจจะโตได้ 2% หรือเสมอตัวก็ดีถมเถแล้ว”

ส่วนในมุมฝั่งผู้ผลิต supply จะมีตัวเปลี่ยนเกมอยู่เรื่องหนึ่งในเรื่องของ “คาร์บอนเครดิต” เพราะในต่างประเทศจะมีการใช้ เตาบาสเฟอร์เนต โรงเหล็กพวกนั้นสร้างมลพิษเยอะ ซึ่งประเทศไทยไม่มี ฉะนั้นโรงเหล็กเหล่านั้นก็หันมาใช้ “เศษเหล็กมากขึ้น” แทนที่จะถลุงก็หันมาใช้เศษเหล็ก ทำให้เริ่มเห็นภาพบางประเทศมีกฎหมายห้ามไม่ให้ส่งออกเศษเหล็กแล้ว หรือส่งออกได้แต่โดนเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งแพงมาก

Advertisement

เทรนด์ราคาเศษเหล็ก

ราคาเศษเหล็กแล้วแต่บางช่วง ปีที่ผ่านมาราคาพยายามไปแตะที่ กก.ละ 12 บาท เศษเหล็กเกรดดีหน่อย 12 บาท แต่วันนี้ราคาเมื่ออาทิตย์ที่แล้วหลุดไป 11.9 บาท แต่ในอีก 2 วันก็ดีดกลับมา 12 บาทกว่าเหมือนเดิม แต่แนวโน้มความต้องการใช้เหล็กในอนาคตเพิ่ม ราคาต้องแพงขึ้นแน่นอน เพราะพอต้องการใช้เยอะและเกี่ยวพันกับสภาพเศรษฐกิจด้วย เศรษฐกิจไม่โตมาหลายปี ไม่โตเท่ากับไม่เกิดการสร้างใหม่ ทำให้เศษเหล็กไม่มี เช่น ในประเทศใช้ 5 ล้านตัน เรามีเพียงแค่ 3 ล้านตัน ต้องนำเข้าประมาณล้านกว่าตันทุกปี “ถ้าภาพคนมองเรื่อง CBAM มากขึ้น ความต้องการเศษเหล็กก็จะมากขึ้นเป็นเรื่องปกติ”

ปมใบกำกับภาษีปลอมในห่วงโซ่อุตฯเศษเหล็ก

ไล่จากระบบการค้าขายเศษเหล็กปัจจุบันจะมีผู้เกี่ยวข้องแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ ผู้ใช้ คือโรงหลอม กลุ่มที่สอง คือ ผู้ขาย แต่ผู้ขายแยกเป็น 2 กลุ่มย่อยก็คือ ผู้ที่รวบรวมเศษเหล็กมาขายให้กับกลุ่มที่มีเตาหลอม กับผู้ขายที่มีลักษณะรายย่อยหรือขายตรงให้กับผู้รวบรวม หรือขายตรงให้กับโรงเตาหลอม ซึ่งกลุ่มโรงหลอมมีแค่หลักสิบ ผู้รวบรวมก็ไม่เยอะมาก แต่กลุ่มรายย่อยกลุ่มสามอันนี้มีเยอะมาก

ในกระบวนการขาย โรงหลอมเวลาจะซื้อเศษเหล็กจากคนที่รวบรวม ก็ต้องตรวจสอบก่อนว่า คนที่มาขายให้มีหลักฐานตั้งแต่หนังสือรับรอง ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) “ถูกต้องไหม” ขั้นตอนนี้สำคัญมากเพื่อเช็กว่า ผู้ค้าเหล็กเหล่านี้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเบื้องต้นที่จะขายเศษเหล็กให้กับโรงงานโรงหลอมหรือไม่ ต้องตรวจสอบเพราะแบบฟอร์มอยู่ตัวหนึ่งเขาเรียกว่า “ภ.พ.30” คือ เป็นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะแยกว่า เป็นภาษีซื้อเท่าไหร่ ภาษีขายเท่าไหร่ แล้วก็ net ออกมาว่า ต้องเสียภาษีเท่าไหร่ นี่คือเหตุผลเบื้องต้นที่ต้องมาคัดเลือกคนที่จะมาค้าขาย เพื่อไปหักกับภาษีขาย

ปัญหานี้เกิดจาก กลุ่ม 2 กับกลุ่ม 3 ซึ่งโรงหลอมจะออกใบกำกับภาษีให้ เช่น สินค้ามูลค่า 100 บาท ก็จะบวกภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7 บาท โรงหลอมก็จะจ่ายเงินให้กับคนที่มาขายเศษเหล็กให้ในราคา 107 บาท แล้ว 107 ตัวนี้ ฝั่งโรงหลอมจะเอาไปรวมใน VAT ซื้อของตัวเอง

ขณะที่กลุ่มผู้ที่รวบรวมเศษเหล็กมาขาย หน้าที่เขาก็ต้องยื่นภาษีให้สรรพากรเหมือนกัน แต่ปัญหาก็คือว่า เศษเหล็กตัวนี้ในระบบมีตั้งแต่ซาเล้ง-ชาวบ้านเก็บรวบรวมมา ถ้าเป็นรายย่อยจะไม่ได้อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เท่ากับว่าคนที่รวบรวมเศษเหล็กมาขายเตาหลอมก็ไม่มีอะไรจะนำมาหักต้องนำภาษีส่งสรรพากร 100% ทั้ง 7 บาท

ปัญหาเกิดขึ้นแล้วคือ กลุ่มนี้ก็ไม่อยากส่งทั้ง 7 บาท ก็ไปหาอะไรมาหัก เช่น หา VAT ซื้ออย่างอื่นมาหัก บางอันไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ตัวเองทำ กรมสรรพากรก็พยายามไล่ออกกฎระเบียบต่าง ๆ ว่า “หักไม่ได้” เพราะรายการซื้อมาอ้างนั้นใช้หักไม่ได้ หลังจากนั้นก็มีพัฒนาการ สร้าง paper company ที่ชื่อห้อยท้ายว่า เหล็ก steel เพื่อโชว์ว่า อยู่ในวงจรธุรกิจประเภทเดียวกันจะได้เอามาหักได้

ผลกระทบพิษใบกำกับภาษีปลอม

ผู้ขายเศษเหล็กนอกจากไม่เสียภาษีให้ กรมสรรพากร แล้วยังไปขอคืนภาษีอีก กลายเป็นว่า สรรพากรไม่ได้ 7 บาท ที่ควรจะเข้ากรมสรรพากร บางทีต้องจ่ายคืนอีก และที่ร้ายกว่านั้นที่โรงหลอม ผู้รับซื้อเกิดปัญหาเพราะ ภ.พ.30 แต่ละงวดบริษัทต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มก็จะเอา VAT ขายของกลุ่ม 2 ที่ขายมาให้เขานำส่งสรรพากร

พอผ่านไประยะหนึ่ง กรมสรรพากรแจ้งโรงหลอมว่า VAT ที่เอาใช้ เป็น VAT ซื้อที่ซื้อเศษเหล็กมาใช้ไม่ได้ ไม่สามารถเอามาหักเป็น VAT ซื้อได้ ทำให้กลุ่มโรงเตาหลอมต้องเสียเงินเพิ่ม เพราะถือว่าใบกำกับภาษีใบนั้นใช้ไม่ได้ จากที่กรมสรรพากรไม่เชื่อว่า 1) มีการซื้อขายเศษเหล็กกันจริง 2) ไม่เชื่อว่าใบกำกับภาษีใบนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง หรือเรียกว่า ใบกำกับภาษีปลอม

ตรวจสอบ VAT ย้อนหลัง

การที่กรมสรรพากร นำระบบตรวจสอบภาษีมูลค่าเพิ่มแบบย้อนหลัง (reverse charge VAT) มาใช้ในส่วนโรงหลอมถือว่า “ดีแน่นอน” เพราะว่าโรงหลอมจะไม่มีความเสี่ยงเรื่องนี้อีกต่อไป แต่ในส่วนของมุมผู้ค้าเศษเหล็กมีได้มีเสีย ถ้าคุณเป็นคนที่ตรงไปตรงมาแต่แรกอันนี้ไม่มีผลอาจจะมีขั้นตอนเรื่องเอกสารบ้างเพราะเปลี่ยนเป็นโรงหลอมเป็นผู้นำส่งให้แทน ซึ่งกรมสรรพากรก็ต้องออกเครื่องไม้เครื่องมืออำนวยความสะดวกให้

reverse charge คล้าย ๆ กับ withholding tax หรือการหักภาษี ณ ที่จ่าย ผู้ซื้อสินค้าหักภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วนำส่ง เป็นผู้นำส่งได้เลย การเอาบทนี้มา apply ใช้ไม่ต้องแก้กฎหมาย อาจจะออกประกาศเพิ่มเติมเท่านั้น ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของสรรพากรรับฟังความเห็น และจัดระบบอำนวยความสะดวกก่อนใช้ ซึ่งองคาพยพ 3 ส่วน ต้องมาขึ้นทะเบียนในระบบ ต้องตรวจสอบได้

สำหรับข้อสังเกตของกรรมาธิการอุตสาหกรรมเป็นอีกมุมหนึ่งคือ โรงหลอม มี 2 สถานะ คือ หลอมเสร็จจะมีเศษเหล็กเหลือ ถ้าวนกลับไปในกระบวนการผลิตของโรงหลอมได้ก็ไม่มีปัญหา แต่ในความเป็นจริงโรงหลอมอาจจะต้องขายเศษบางส่วน ซึ่งเรื่องนี้กรมสรรพากร definition เป็นลักษณะของ 6 กลุ่มของตัวเศษซากที่เกี่ยวเนื่อง กำหนดให้ต้องมาขึ้นทะเบียนเช่นกัน

“ภาพรวมอยากให้มองที่ประเทศชาติเป็นหลักก่อน ภาษีตรงนี้ ประเทศชาติได้คืนมาเต็ม ๆ แน่ อย่างตอนนี้สถานการณ์แย่ ๆ เรา utilized กำลังผลิตได้ 20% ใช้เศษเหล็ก 5 ล้านตัน ราคาที่แย่ที่สุดตันละ 12,000 บาท คิดเป็น 60,000 ล้าน ถ้า VAT 7% ก็ 4,200 ล้านบาทแล้ว ถ้าสถานการณ์ปกติกำลังผลิตเพิ่มขึ้นเท่าตัว ตัวเลขก็เพิ่มเป็นเท่าตัว และสุดท้าย reverse charge คงไม่ได้จบแค่กลุ่มเหล็กถ้า run แล้วดี น่าจะผลักดันไปสู่อุตสาหกรรมอื่นที่วงจรคล้ายกันได้”

ดังนั้น ในมุมของโรงหลอมเราเห็นด้วยหมดเพราะเป็นผู้รับผลกระทบในวงกว้าง พอมีเรื่องโกง VAT เรามักจะกลายเป็นผู้ร้าย ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เรา


เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต