10 สมาคมเหล็กยื่น 7 ทางรอด คุมสินค้านำเข้า-ฟื้นกำลังการผลิต
10 สมาคมอุตสาหกรรมเหล็ก ยื่นกระทรวงอุตสหกรรม 7 ข้อ เร่งแก้ปัญหากำลังการผลิตตกต่ำเพียง 31% เสนอขยายเวลาบังคับใช้มาตรการห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต 5 ปี ชี้ มาเลเซียห้ามตั้งโรงงานเหล็กทุกประเภท 2 ปี สมาคมท่อเหล็ก ห่วงนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปมากขึ้น
อุตสาหกรรมเหล็กไทยได้รับผลกระทบจากเหล็กจีนนำเข้าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยผู้ผลิตเหล็กไทยเรียกร้องต่อเนื่องให้ภาครัฐควบคุมการนำเข้าเหล็กจากจีน โดยใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด
ความเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดของ 10 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย นำโดยนายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เข้าพบนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2566 เพื่อยื่นข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาเหล็กอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ 10 สมาคมผู้ประกอบการอุตสหกรรมเหล็กไทยนำเสนอสถานการณ์อุตสาหกรรมที่ไทยนำเข้าสุทธิในเดือน ม.ค.-ก.ย.2566 เป็นรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐ
ขณะที่ไทยมีปริมาณการบริโภคสินค้าเหล็ก 12.55 ล้านตัน เป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศเพียง 4.99 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 31% ของความต้องการเหล็กในประเทศ รวมทั้งมีสัดส่วนการใช้สินค้าเหล็กในประเทศเพียง 31.0% แสดงให้เห็นว่าปัญหาหลักเกิดจากสินค้าในประเทศถูกสินค้านำเข้าแย่งส่วนแบ่งตลาด
รวมทั้งในช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค.2566 จีนทำสถิติปริมาณส่งออกเหล็กรวม 75 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 19 ล้านตัน หรือคิดเป็น 34.8% สูงสุดในรอบ 7 ปี โดยผู้ผลิตเหล็กจีนยังผลิตอัตราสูงสวนทางความต้องการบริโภคเหล็กในจีนตกต่ำจากสภาวะถดถอยของภาคอสังหาริมทรัพย์ และปี 2567 คาดว่าจีนส่งออกเหล็กเพิ่มขึ้น จะสร้างความกังวลต่อปัญหาการทุ่มตลาดและราคาเหล็กโลก
ยื่น 7 ทางรอดอุตสาหกรรมเหล็ก
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ 10 สมาคมผู้ประกอบการอุตสหกรรมเหล็กไทย เสนอกระทรวงทรวงอุตสาหกรรมเพื่อแก้ปัญหาใน 7 ประเด็น ประกอบด้วย
1.มาตรการสงวนเศษเหล็กเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าเหล็กในประเทศ โดยปัจจุบันความต้องการใช้เศษเหล็กในประเทศมี 6 ล้านตัน โดยมีซัพพลายในประเทศ 4 ล้านตัน และนำเข้าอีก 2 ล้านตัน ในขณะที่มีการส่งออกเศษเหล็กไปต่างประเทศ 4 แสนตัน
ทั้งนี้ เสนอให้ห้ามส่งออกเศษเหล็ก หรือ เก็บภาษีส่งออกเศษเหล็ก (Export Tax) ยกเว้นเศษเหล็กที่ในประเทศใช้ไม่ได้ หรือเศษเหล็กที่ผู้ส่งออกมีสัญญาส่งเศษเหล็กคืนให้คู่ค้าต่างประเทศต้นทาง เช่น เศษเหล็กมูลค่าสูงที่ต้องส่งออกคืนเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเหล็กคุณภาพสูงในอุตสาหกรรมยานยนต์
2.มาตรการควบคุมสินค้าเหล็กโครงสร้างสำเร็จรูป (พิกัด 7308) ที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยการนำเข้าสินค้าเหล็กโครงสร้างสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากจีนและเวียดนาม ซึ่งนำเข้าทั้งระบบ Eco system เดือน ม.ค.-ต.ค.2566 สัดส่วนนำเข้าจากจีนสูงถึง 92% (เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อน 81%) และเวียดนาม 3% และประมาณการว่าปี 2566 การนำเข้าจากจีนอาจสูงถึง 4 แสนตัน ซึ่งเหล็กโครงสร้างสำเร็จรูปยังไม่มีมาตรฐาน มอก.ที่อาจกระทบด้านความปลอดภัยของผู้บริโภค
ทั้งนี้ เสนอให้วัสดุที่เป็นส่วนประกอบของโครงสร้างเหล็กสำเร็จรูปควรต้องเป็นไปตามมาตรฐาน มอก. (กรณีเป็นมาตรฐานบังคับ) รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบพิกัด 7308 ว่านำเข้าตรงพิกัดหรือไม่ หรือหลบเลี่ยงนำสินค้าเหล็กอื่นเข้ามาเลี่ยงภาษีอากร และในขณะที่ยังไม่มีมาตรฐานควรมีหน่วยงานตรวจสอบผลิตภัณฑ์เหล็กที่นำมาประกอบโครงสร้างเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
3.การพิจารณาขยายระยะเวลาบังคับใช้มาตรการห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต โดยเสนอขยายระยะเวลาบังคับใช้มาตรการเป็นการชั่วคราวอีก 5 ปี จากเดิมที่มาตรการหมดอายุ 10 ม.ค.2568 เพราะอัตราการใช้กำลังการผลิตยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งในช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค.2566 ประมาณ 28.5%
เสนอห้ามขยายโรงเหล็กรีดร้อน
4.การพิจารณาบังคับใช้มาตรการห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน โดยอุตสาหกรรมเหล็กแผ่นรีดร้อนปัจจุบันมีกำลังการผลิต 8.9 ล้านตัน แต่มีปริมาณการผลิตในประเทศเพียง 2.46-3.37 ล้านตัน หรือใช้กำลังการผลิต 27-37% และปี 2566 จะมีผู้ผลิตรายใหญ่เพิ่ม 1 ราย กำลังการผลิต 5.6 ล้านตัน จะส่งผลกำลังรวมเพิ่มเป็น 14.5 ล้านตัน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตในประเทศเหลือเพียง 20%
ในขณะที่มาเลเซียประกาศนโยบายห้ามตั้งหรือขยายอุตสาหกรรมเหล็กทุกประเภทชั่วคราว 2 ปี มีผลตั้งแต่ 15 ส.ค.2566 ซึ่งครอบคลุมการประเมินคำขอปัจจุบัน คำขอใหม่ การโอนใบอนุญาต การขยายโรงงาน เพื่อแก้ปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินในประเทศ
ดังนั้นจึงเสนอให้พิจารณาบังคับใช้มาตรการห้ามตั้งหรือขยายสำหรับโรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชั่วคราว 5 ปี เช่นเดียวกับกรณีเหล็กเส้นและเหล็กแท่งเล็ก เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบปัญหากำลังการผลิตเกินความต้องการบริโภค และปัญหาการใช้อัตรากำลังการผลิตต่ำ
เข้มงวดใบอนุญาตนำเข้าเหล็ก
5.พิจารณาการควบคุมการออกใบอนุญาตนำเข้าสินค้าเหล็ก (มอก.) ให้กับผู้นำเข้ารายใหม่ โดยเพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณาออกใบอนุญาตนำเข้าสินค้าเหล็ก เพราะสินค้าผู้ผลิตในประเทศกำลังการผลิตใช้งานได้จริงเพียง 28% แสดงว่ากำลังการผลิตของผู้ประกอบการในประเทศเพียงพอต่อความต้องการ
6.การเข้มงวดในการรายงานข้อมูลตามแบบแจ้งข้อมูลการประกอบกิจการโรงงานรายเดือน (ร.ง.8) โดยกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องรายงานข้อมูลประจำเดือน และบังคับใช้บทลงโทษจริงจังเพื่อประโยชน์ในการรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์สถานการณ์อุตสาหกรรม รวมทั้งกำหนดอายุใบอนุญาตเดิมและขออนุญาตใหม่/การตรวจติดตาม/ค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาต ในแนวทางเดียวกันกับประเทศอื่นๆ
7.การสนับสนุนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือเพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำระหว่างภาคอุตสาหกรรมเหล็กและภาครัฐ อาทิ กองทุนหรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดใช้พลังงานและลดการปลดปล่อยคาร์บอน รวมถึงมาตรการสนับสนุนให้สินค้าที่ผลิตจากโรงงานที่ได้รับรองโรงงานสีเขียว (Green Industry) ได้รับการสนับสนุนในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
รวมทั้งการควบคุมสินค้านำเข้าให้มีมาตรการควบคุมการปล่อยมลพิษเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ เช่น ติดตั้งระบบตรวจวัดมลพิษทางอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง และควบคุมการปล่อยสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมในประเทศ
ชี้ผู้นำเข้าเลี่ยงมาตรการเอดี
นายกวินพัฒน์ นิธิเตชเศรษฐ์ นายกสมาคมผู้ผลิตท่อและแปรรูปเหล็กแผ่น กล่าวว่า รูปแบบการนำเข้าเหล็กจากจีนเปลี่ยนแปลงไป โดยที่ผ่านมาภาครัฐได้ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดเพื่อเก็บภาษีนำเข้า รวมทั้งกำหนด มอก.สินค้าเหล็ก แต่ในปัจจุบันมีการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปเพิ่มมากขึ้นเพื่อเลี่ยงมาตรการกีดกัน เช่น โครงสร้างอาคาร
รวมทั้งช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีบริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิตเหล็กเข้ามาในไทยเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีการนำเข้าวัตถุดิบเหล็ก เช่น เหล็กม้วน เข้ามาเพื่อแปรรูปในไทย
“ผู้ประกอบการเหล็กได้ยื่นข้อเสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งรัฐมนตรีรับที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือในรายละเอียด และส่วนใดที่เร่งดำเนินการได้จะดำเนินการไปก่อน เช่น มอก.” นายกวินพัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเหล็กเห็นว่าควรมีการออก มอก.แบบบังคับสำหรับสินค้าเหล็กเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งควรมีการระงับการออกใบอนุญาตนำเข้าเพื่อจำกัดการนำเข้า 1-2 ปี
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กเห็นว่าสถานการณ์ปัจจุบันเกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม โดยสินค้าหลายรายการมี มอก.แบบทั่วไป ซึ่งไม่ใช่มาตรฐานบังคับให้ผู้ประกอบการต้องมี เช่น ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี 60 ไมครอน แต่สินค้านำเข้าเคลือบสังกะสีเพียง 40 ไม่ครอน มีต้นทุนที่ห่างกันตันละ 10-15 ดอลลาร์